|
|
การศึกษาครั้งนี้ มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาปัญหาข้อบกพร่องทางการพูดของนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่พ่อแม่มีอาชีพ , ระดับความรู้ต่างกัน และลำดับการเกิดของลูกที่ต่างกันในโรงเรียนประถมสาธิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และเปรียบเทียบอัตราของข้อบกพร่องทางการพูดของนักเรียนดังกล่าว จะมีข้อบกพร่องทางการพูดต่างกันมากน้อยสักเพียงใด
กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาค้นคว้าเป็นนักเรียนชั้นประถมปีที่ 1 และชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ในโรงเรียนประถมสาธิต ฯ ปีการศึกษา 2519 – 2521 จำนวนนักเรียนชาย 270 คน หญิง 101 คน รวม 461 คน
ข้อมูลของการศึกษาได้จากแบบกรอกประวัติของนักเรียนโดยให้พ่อแม่กรอก ส่วนข้อมูลที่ได้จากการทดสอบเสียงพูดในชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ทดสอบโดยการดูภาพและให้พุดให้ผู้ทดสอบฟัง ส่วนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ทดสอบโดยการอ่านคำกลอน
ผลของการศึกษาค้นคว้าปรากฏดังนี้
1. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่พ่อแม่มีอาชีพต่างกันจะมีข้อบกพร่องทางการพูดต่างกัน ได้แก่ นักเรียนที่พ่อแม่มีอาชีพรับจ้างมีข้อบกพร่องสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 94.25 และต่ำสุด คือ นักเรียนที่พ่อแม่มีอาชีพเป็นครู – อาจารย์ คิดเป็นร้อยละ 58.93
2. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่พ่อแม่มีอาชีพต่างกันจะมีข้อบกพร่องทางการพูดต่างกัน ได้แก่ นักเรียนที่พ่อแม่มีอาชีพ ค้าขาย มีข้อบกพร่องสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 59.72 และต่ำสุด คือ นักเรียนที่พ่อแม่มีอาชีพเป็นครู – อาจารย์ คิดเป็นร้อยละ 22.57
3. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่พ่อแม่มีระดับความรู้ต่างกันจะมีข้อบกพร่องทางการพูดต่างกัน ได้แก่ นักเรียนที่พ่อแม่มีระดับความรู้อุดมศึกษา มีข้อบกพร่องสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 88.19 และต่ำสุด คือ นักเรียนที่พ่อแม่มีความรู้ มศ.5 ม.8 ถึงอาชีพชั้นสูงคิดเป็นร้อยละ 75.66
4. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่พ่อแม่มีระดับความรู้ที่ต่างกันจะมีข้อบกพร่องทางการพูดต่างกัน ได้แก่ นักเรียนที่พ่อแม่มีระดับความรู้ มศ.3 , ม.6 หรือต่ำกว่า มีข้อบกพร่องสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 53.65 และต่ำสุด คือนักเรียนที่พ่อแม่มีความรู้ อุดมศึกษา คิดเป็นร้อยละ 25.31
5. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่มีลำดับการเกิดต่างกัน จะมีข้อบกพร่องทางการพูดต่างกัน ได้แก่ นักเรียนที่เป็นลูกค้นกลาง มีข้อบกพร่องสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 91.75 และต่ำสุด คือ นักเรียนที่เป็นลูกโทน คิดเป็นร้อยละ 62.39
6. นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 5 ที่มีลำดับการเกิดต่างกัน จะมีข้อบกพร่องทางการพูดต่างกัน ได้แก่ นักเรียนที่เป็นลูกคนกลาง มีข้อบกพร่องสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 50.33 และต่ำสุด คือ นักเรียนที่เป็นลูกคนสุดท้อง คิดเป็นร้อยละ 21.39
ผู้ศึกษาได้ให้ข้อเสนอแนะต่อโรงเรียนประถมสาธิตฯ โดยปรับปรุงด้านการพูดของครู – อาจารย์ และนิสิตฝึกสอน มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ควรจัดบริการความรู้ด้านการพูดแก่นิสิตและบุคคลผู้สนใจทั่วไป สำหรับผู้ปกครองให้ความร่วมมือกับทางคลีนิคของโรงเรียน พร้อมทั้งช่วยฝึกการพูดของเด็กที่บ้านด้วย
|
|
|