ผลงานวิจัย การพัฒนาเครื่องมือคัดแยกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปศึกษา
ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
ของโรงเรียนสาธิต มศว ประสานมิตร (ฝ่ายประถม)
ผู้วิจัย รศ.ลลิตพรรณ   ทองงาม
พ.ศ. 2539
บทคัดย่อ
 

 
       การวิจัยครั้งนี้มีจุดประสงค์ดังนี้


     (1) เพื่อสร้างเครื่องมือคัดแยกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษด้านศิลปศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายประถม)
     (2) เพื่อหาคุณภาพของเครื่องมือคัดแยกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปศึกษา ชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4
     (3) เพื่อสร้างเกณฑ์ปกติเฉพาะกลุ่ม (Local Norm) ของผลงานศิลปศึกษาและความคิดสร้างสรรค์
        ลักษณะของเครื่องมือคัดแยกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปศึกษา ประกอบด้วยแบบทดสอบแต่ละประเภทดังนี้
      1. แบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ (TCT – DP) พัฒนามาจากแบบทดสอบความคิดสร้างสรรค์ของเจลเลนและเออร์บาน (Jellen and Urban)
      2. แบบทดสอบวัดผลงานศิลปศึกษา ประกอบด้วยงานพิมพ์ งานปั้น งานวาดรูประบายสี
      3. แบบสำรวจการวินิจฉัยจากการสังเกตความสามารถพิเศษทางด้านศิลปศึกษาจากเพื่อน ผู้ปกครอง ครูสอนศิลปศึกษา และจากครูประจำชั้น
   กลุ่มตัวอย่าง เป็นนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ซึ่งเรียนอยู่ใน โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายประถม) เขตพระโขนง กรุงเทพมหานคร สังกัดทบวงมหาวิทยาลัย จำนวนนักเรียนทั้งหมด 984 คน ระยะเวลาทำการและเก็บข้อมูลใช้เวลา 1 ภาคเรียน

       ผลการศึกษาพบว่า เครื่องมือคัดแยกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศาทางด้านศิลปศึกษาที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นสามารถใช้เป็นเครื่องมือคัดแยกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปศึกษาชั้นประถมศึกษาปีที่   1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ได้ผลการคัดแยกอยู่ในเกณฑ์ที่มีความเชื่อถือได้ดีในการหาคุณภาพของเครื่องมือดังกล่าวที่ทำการทดลองกับนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 และจากการสำรวจวินิจฉัย จากการสังเกตความสามารถพิเศษทางด้านศิลปศึกษา โดยเพื่อน ผู้ปกครอง ครูผู้สอนศิลปศึกษา และครูประจำชั้น พบว่า มีความเที่ยงตรง เชิงประจักษ์ระหว่าง ผู้เรียนที่มีความสามารถทางการเรียนศิลปศึกษาสูง ตลอดจนมีความสัมพันธ์ทางบวกกับเกณฑ์ภายนอก ได้แก่ ความคิดสร้างสรรค์ การวินิจฉัยจากการสังเกตความสามารถพิเศษของนักเรียนโดยเพื่อน ผู้ปกครอง ครูผู้สอนศิลปศึกษา และครูประจำชั้น และมีความสัมพันธ์ทางบวกภายในองค์ประกอบร่วมระหว่างงานพิมพ์ งานปั้น งานวาดรูประบายสี ความสัมพันธ์ดังกล่าวมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เครื่องมือคัดแยกแต่ละประเภทมีอำนาจจำแนกในการคัดแยกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปศึกษาได้ที่ระดับความเชื่อมมั่นเท่ากับ .99 ในการศึกษาครั้งนี้ผู้วิจัย ได้สร้างเกณฑ์ปกติเฉพาะกลุ่ม (Local Norm) ของเครื่องมือคัดแยกนักเรียนที่มีความสามารถพิเศษทางด้านศิลปศึกษาเป็นเกณฑ์ ตามระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ของนักเรียนโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร (ฝ่ายประถม)


 
         
 

[Home] [Back]