ผลงานวิจัย การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยบางประการกับพฤติกรรมความโกรธ
ผู้วิจัย อ.ชฎาธาร คำเนียม
พ.ศ. 2545
บทคัดย่อ
 
 

      การวิจัยครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยบางประการกับพฤติกรรมความโกรธของนักเรียน และน้ำหนักความสำคัญของปัจจัยบางประการที่ส่งผลต่อพฤติกรรมความโกรธของนักเรียน กลุ่มตัวอย่างเป็นนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 ปีการศึกษา 2544 ของโรงเรียนสังกัดกรมสามัญศึกษากลุ่มที่ 1 กรุงเทพมหานคร จำนวน 420 คน ซึ่งเลือกมาโดยวิธีการสุ่มแบบหลายขั้นตอน และเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูลคือ แบบสอบถามวัดบุคลิกภาพความวิตกกังวล แบบสอบถามวัดความเครียด แบบสอบถามการได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย แบบสอบถามการได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวดกวดขัน แบบสอบถามการได้รับการเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย และแบบสอบถามวัดพฤติกรรมความโกรธ มีค่าความเชื่อมั่นตั้งแต่ .83 ถึง .93 วิเคราะห์ข้อมูลโดยใช้สัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์และการถดถอยพหุคูณด้วยโปรแกรม เอสพีเอสเอส (SPSS)

ผลการวิจัยสรุปได้ดังนี้
     1. ค่าสัมประสิทธิ์สหสัมพันธ์พหุคูณระหว่างปัจจัยบางประการกับพฤติกรรมความโกรธมีค่าเท่ากั้บ .717 , .546 และ .667 โดยมีความสัมพันธ์กันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ทุกค่าเมื่อวิเคราะห์จากนักเรียนชาย นักเรียนหญิงและรวมทั้งหมด
     2. ค่าน้ำหนักความสำคัญของปัจจัยด้านความเครียด การได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบประชาธิปไตย และความวิตกกังวล ส่งผลต่อพฤติกรรมความโกรธ ของนักเรียนชายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 เมื่อวิเคราะห์จากนักเรียนหญิงคือปัจจัยด้านความเครียด การได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลยและการได้รับการอบรมเลี้ยงดูประชาธิปไตยที่ส่งผลต่อพฤติกรรมความโกรธอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 และเมื่อวิเคราะห์จากนักเรียนทั้งหมดคือปัจจัยด้านความเครียด การได้รับการอบรมเลี้ยงดูแบบปล่อยปละละเลย การได้รับการอบรมเลี้ยงดูประชาธิปไตย และความวิตกกังวล ที่ส่งผลต่อพฤติกรรมความโกรธอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .01 ส่วนการได้รับการ อบรมเลี้ยงดูแบบเข้มงวดกวดขันส่งผลต่อพฤติกรรมความโกรธ อย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ


   
       
     

[Home] [Back]