ผลงานวิจัย การศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทย ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีการใช้
  แบบทดสอบวินิจฉัยและแบบฝึกหัดซ่อมเสริม
ผู้วิจัย อ.อารี   สัณหฉวี
พ.ศ. 2526

บทคัดย่อ

 

   
     การศึกษาครั้งนี้มีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียน ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่มีการใช้แบบทดสอบวินิจฉัยและแบบฝึกหัดซ่อมเสริม กลุ่มตัวอย่างประกอบไปด้วย นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จำนวน 322 คน แบ่งเป็นกลุ่มทดลอง จำนวน 190 คน เป็น นักเรียนจากโรงเรียนประถมสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนวัดตระคร้ำเอน กาญจนบุรี ส่วนกลุ่มควบคุม จำนวน 132 คน เป็นนักเรียนจากโรงเรียนดาราคาม กรุงเทพมหานคร และโรงเรียนวัดโพธิ์ศรีสุขาราม กาญจนบุรี
     เครื่องมือที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้มีทั้งหมด 2 ชุด คือ ชุดที่ 1 เป็นแบบทดสอบวินิจฉัยในการเรียนวิชาภาษาไทย จำนวน 9 ฉบับ แต่ละฉบับเป็นการวินิจฉัยข้อบกพร่องด้านต่าง ๆ คือ คำที่ตรงตามมาตราตัวสะกด คำที่ไม่ตรงตามมาตราตัวสะกด คำที่ไม่ตรงตามตัวสะกดและมีการันต์ คำที่มีตัวสะกด 2 ตัว คำควบกล้ำและอักษรนำ คำยกเว้น การวางรูปวรรณยุกต์ ความหมายของคำศัพท์ และความเข้าใจในการอ่านแบบทดสอบวินิจฉัยทั้ง 9 ฉบับนี้ มีค่าความเชื่อมั่นตั้งแต่ .78 ถึง .93 ส่วนเครื่องมือชุดที่ 2 เป็นแบบฝึกหัดซ่อมเสริมการเรียนวิชาภาษาไทย ซึ่งแบ่งออกเป็นแบบฝึกหัดด้านการฟัง ด้านการอ่าน และด้านการเขียน
      ในการเก็บข้อมูลนั้น คณะผู้วิจัยได้ทำการทดสอบครั้งแรก (pretest) ด้ายแบบทดสอบวินิจฉัย 9 ฉบับ ทั้งกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุม หลังจากนั้นกลุ่มทดลองได้ทำแบบฝึกหัดซ่อมเสริมด้านการฟัง การอ่านและการเขียนเป็นระยะเวลา 14 สัปดาห์ และเมื่อสิ้นสุดการใช้แบบฝึกหัดซ่อมเสริม กลุ่มตัวอย่างทั้งกลุ่มและกลุ่มควบคุมได้รับการทดสอบครั้งหลัง (posttest) ด้วยแบบทดสอบวินิจฉัยทั้ง 9 ฉบับอีกครั้ง การวิเคราะห์ข้อมูล ใช้ t – test แบบ Independent

      ผลการศึกษา พบว่า
      นักเรียนที่เรียนโดยการใช้แบบทดสอบวินิจฉัยและแบบฝึกหัดซ่อมเสริม มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาไทยสูงกว่านักเรียนที่ไม่ได้ใช้แบบทดสอบวินิจฉัยและแบบฝึกหัดซ่อมเสริมอย่างมีนัยสำคัญที่ระดับ .05 ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่ได้วางไว้ แสดงว่าการใช้แบบทดสอบวินิจฉัยและแบบฝึกหัดซ่อมเสริมสามารถแก้ไขข้อบกพร่องในการเรียนวิชาภาษาไทยได้

      ข้อเสนอแนะที่ได้จากการศึกษา
  1. ด้านการเรียนการสอน
     1.1 เนื่องจากผลของการศึกษาครั้งนี้ พบว่า การใช้แบบทดสอบวินิจฉัยและแบบฝึกหัดซ่อมเสริมช่วยแก้ไขข้อบกพร่องในการเรียนวิชาภาษาไทยของนักเรียนได้ ฉะนั้นจึงควรนำไปใช้เพื่อให้การสอนบรรลุเป้าหมายได้ดียิ่งขึ้น
     1.2 ในการที่จะสอนซ่อมเสริมให้กับเด็กที่มีข้อบกพร่อง ครูควรทำการทดสอบด้วยแบบทดสอบวินิจฉัยเสียก่อน เพื่อจะได้เลือกใช้แบบฝึกหัดซ่อมเสริมได้ตรงกับปัญหาข้อบกพร่อง
     1.3 การสอนซ่อมเสริมควรได้รับความร่วมมือจากบุคลากรทุกฝ่ายในโรงเรียน
     1.4 การสอนซ่อมเสริมควรมีแบบฝึกหัด ที่เรียงลำดับจากง่ายไปหายากและมีความน่าสนใจอยู่ในสื่อและแบบฝึกหัดนั้นด้วย นอกจากนี้ครูควรใช้การเสริมแรงควบคู่ไปกับการสอนซ่อมเสริมด้วย
  2. ข้อเสนอแนะในการศึกษาวิจัยต่อไป
     2.1 ควรมีการสร้างแบบทดสอบวินิจฉัยและแบบฝึกหัดซ่อมเสริมวิชาภาษาไทยให้ตรงทุกชั้นในระดับประถมศึกษา
     2.2 ควรสร้างแบบทดสอบวินิจฉัยและแบบฝึกหัดซ่อมเสริมในวิชาอื่น ๆ เช่น วิชาคณิตศาสตร์ วิชาเสริมสร้างประสบการณ์ชีวิต เป็นต้น และให้ครบในทุกชั้น
     2.3 ควรมีการศึกษาวิจัยและพัฒนาเกี่ยวกับกระบวนการในการสอนซ่อมเสริม เช่น การสอนเป็นกลุ่ม เพื่อนช่วยเพื่อนหรือพี่ช่วยน้อง ซึ่งเป็นการสอนรายบุคคล เป็นต้น
     2.4 ควรมีการวิจัยถึงความสัมพันธ์ระหว่างการสอนซ่อมเสริมที่ช่วยให้ทักษะในการเรียนดีขึ้นกับความรู้สึกภาคภูมิใจตนเอง (Self – Esteem) เป็นต้น



 
         
 

[Home] [Back]